วัฒนธรรมฟุตบอลแบบไทยๆ กับการไม่มีค่าชดเชย เมื่อถูกยกเลิกสัญญา

วัฒนธรรมฟุตบอลแบบไทยๆ กับการไม่มีค่าชดเชย เมื่อถูกยกเลิกสัญญา

วัฒนธรรมฟุตบอลแบบไทยๆ กับการไม่มีค่าชดเชย เมื่อถูกยกเลิกสัญญา

ในระบบฟุตบอลแบบสากล การจะหานักฟุตบอล โค้ช ทีมงาน และอื่นๆ เข้าสโมสรของตัวเอง แน่นอนว่าต้องมีการเซ็นสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานว่าบุคคลนั้นๆจะอยู่ร่วมกันนานขนาดไหนและให้ค่าตอบแทนเท่าไร ถึงกระนั้นหากเกิดเหตุการณ์ที่สโมสรไม่ต้องการใคร หรือที่เรียกง่ายๆว่าไล่ออก สโมสรเหล่านั้นก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยที่เหลือในสัญญา แต่สำหรับวงการฟุตบอลไทย เรื่องดังกล่าวกลับไม่ค่อยมีปรากฏให้เห็น อีกทั้งบุคลากรทางด้านฟุตบอลที่ถูกบอกยกเลิก ก็มักยอมรับการไม่ได้ค่าชดเชย ซึ่งทำไมถึงเป็นเช่นนั้น วันนี้เราจะไปหาคำตอบกัน

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า สโมสรฟุตบอลในเมืองไทย ล้วนแต่เป็นนักการเมือง ผู้มีอิทธิในท้องที่ หรือเป็นนักธุรกิจ โดยจำนวนมากไม่ได้มีเงินมากมายแบบมหาเศรษฐี อีกทั้งเรื่องที่ต้องยอมรับ คือ กลุ่มคนบางส่วนเข้ามาเป็นเจ้าของทีม ก็เพื่อสร้างฐานเสียงให้แก่ตัวเอง เพื่อประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ฉะนั้นการลงเงินกับทีมฟุตบอลจะต้องทำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด

 

 

หลายสโมสรมีการเซ็นสัญญากับ นักฟุตบอล โค้ช ทีมงาน และอื่นๆ ตามกฎสากล แต่ธรรมเนียมสำหรับเจ้าของทีมในระบบฟุตบอลไทย ที่มีต่อนักเตะและโค้ช มักจะให้ค่าเซ็นสัญญาไปเลยในวันที่ชูเสื้อ ทำให้ในฉากหน้าของเงินก้อนนั้น จึงเปรียบเสมือนให้กินเปล่า แต่สำหรับเจ้าของทีม เงินก้อนนั้นคือการซื้ออนาคต โดยหากอยู่ครบสัญญา ก็ถือว่าคุ้มสำหรับคนเซ็น แต่หากถูกยกเลิกสัญญา ก็ถือว่าคนจ่ายให้เงินเยียวยาไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งแน่นอนว่าในทางกฎหมาย หากสโมสรมีการยกเลิกสัญญา ยังไงก็ต้องมีการจ่ายค่าชดเชย ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ แต่สำหรับนักเตะหรือโค้ช มักเลือกที่จะไม่แจ้งความดำเนินคดี เพราะมันได้ไม่คุ้มเสีย

การไม่ไปแจ้งความดำเนินคดี มันได้ไม่คุ้มเสียอย่างไร กล่าวคือ คนที่เราจะไปฟ้องนั้น เป็นนักการเมือง เป็นคนใหญ่คนโต ซึ่งในบั้นปลายอาจชนะคดีและได้เงินชดเชย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าบริบทของสังคมไทยที่ยังคงมีระบบอุปถัมภ์ ฉะนั้นหากไปฟ้องร้องดำเนินคดี ก็อาจเป็นการดับอนาคตตัวเอง เพราะกลุ่มคนที่อุปถัมภ์กันอยู่ อาจเลือกที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับนักฟุตบอลหรือโค้ชคนนั้น

แนวทางดังกล่าวกลายเป็นธรรมเนียมปกติสำหรับฟุตบอลไทยไปแล้ว แต่ถึงกระนั้นต้องไม่ลืมว่า นักเตะชาวต่างชาติ พวกเขาไม่แคร์และไม่สนกับแนวทางเช่นนี้ หากพวกเขาเสียประโยชน์ ทำให้เราจะเห็นภาพของนักเตะต่างชาติไปร้องฟีฟ่า แล้วชนะคดี จากนั้นสโมสรของไทยก็จะถูกลงโทษ ซึ่งนี่นับเป็นการตกม้าตายอย่างแท้จริงของเหล่าเจ้าของทีมในฟุตบอลไทย เพราะพวกเขาเลือกที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยกับบุคลากรทางด้านฟุตบอลที่เป็นคนไทย แต่สุดท้ายก็ต้องไปจ่ายค่าชดเชยกับนักเตะต่างชาติบางราย มิหนำซ้ำการถูกลงโทษ จนมีผลให้ทีมถูกตัดแต้ม หรือโทษอื่นๆ ซึ่งมันอาจไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย

 

# วัฒนธรรมฟุตบอลแบบไทยๆ กับการไม่มีค่าชดเชย เมื่อถูกยกเลิกสัญญา